วันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

สนช. หลังรับพรบ.ความมั่นคง

http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=10185&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai
บทความสุรชาติ บำรุงสุข (1) : กฎหมายความมั่นคงกับการละเมิดสิทธิ บทเรียนจากมาเลเซีย
จากบทความเดิมชื่อ กฎหมายความมั่นคงกับปัญหาสิทธิมนุษยชน :บทเรียนจากมาเลเซีย


สุรชาติ บำรุงสุข

" กฎหมายความมั่นคงภายในของมาเลเซียเป็นชุดของกฎหมายที่สมบูรณ์ที่สุด

และรอบด้านที่สุดสำหรับชนชั้นปกครอง "


The International Commission of Jurists


หากมองปัญหาการเมืองไทยปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าหนึ่งในปัญหาที่น่าสนใจก็คือ ท่าทีของกลุ่มเอ็นจีโอไทยต่อเรื่องของกฎหมายความมั่นคงใหม่ ซึ่งกำลังถูกผลักดันโดยนายกรัฐมนตรี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เพื่อให้ได้รับความเห็นชอบและนำออกมาใช้ปฏิบัติโดยเร็ว

แม้กฎหมายจะได้รับการคัดค้านจากกลุ่มคนบางส่วนในสังคมไทย แต่รัฐบาลก็มีท่าทีที่ชัดเจนในการออกแรงผลักดันกฎหมายนี้ เช่น เมื่อเสียงคัดค้านมุ่งไปสู่ประเด็นของการ "รัฐประหารเงียบ" ที่ฝ่ายทหารดึงเอาอำนาจของนายกรัฐมนตรีในการประกาศสถานการณ์ที่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ ไปไว้กับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ. รมน.) ก็ได้มีความพยายามจากนายกรัฐมนตรี ที่จะแก้ไขเพียงให้อำนาจดังกล่าวมาอยู่ในมือรัฐบาล (ดูมติชนรายวัน, 29 กรกฎาคม 2550) ซึ่งเท่ากับว่า สาระหลักของกฎหมายนี้จะไม่ได้รับการแก้ไข และรัฐบาลได้แสดงท่าทีอย่างชัดเจนในการเป็นผู้ผลักดันกฎหมายนี้

ปัญหาเช่นนี้ทำให้บรรดาผู้นำเอ็นจีโอที่ร่วมอยู่ในรัฐบาลของพลเอกสุรยุทธ์ หรือร่วมอยู่ในฐานะผู้ได้รับประโยชน์จากกลุ่มทหารที่ยึดอำนาจ โดยการให้มีตำแหน่งในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือในองค์กรที่มีความเกี่ยวข้องกับฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติ หรือกับส่วนหนึ่งส่วนใดของอำนาจรัฐ อาจจะต้องตอบคำถามแก่สังคมให้ได้ว่า ถ้ากฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่จะถูกใช้เพื่อนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้ว บรรดาผู้นำเอ็นจีโอเหล่านั้นจะกำหนดท่าทีต่อกฎหมายความมั่นคงดังกล่าวอย่างไร เพราะก่อนหน้าที่จะเกิดการยึดอำนาจ ผู้นำเอ็นจีโอที่มีตำแหน่งทั้งหลายนี้ล้วนแต่พร่ำอยู่กับเรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชนตลอดมา

บทความต่อไปนี้ไม่เน้นในกรณีของไทย แต่จะทดลองนำเสนอว่า ทำไมนักสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวทางสังคมในมาเลเซียจึงคัดค้านกฎหมายความมั่นคงภายในอย่างมาก แม้ว่าการเคลื่อนไหวของพวกเขาจะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่มีท่าทีและสัญญาณเชิงบวกแต่อย่างใดว่า รัฐบาลมาเลเซียจะยินยอมยกเลิกกฎหมายนี้ ทั้งที่กฎหมายนี้ออกใช้บังคับในยุคของสงครามเย็น และกฎหมายความมั่นคงภายในหรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ISA (Internal Security Act 1960) เป็นผลผลิตโดยตรงของการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์มลายา

แต่แม้สงครามคอมมิวนิสต์ในมาเลเซียจะสิ้นสุดลงจากการเจรจาสันติภาพที่หาดใหญ่ (The Haadyai Peace Accord) ในวันที่ 24 ธันวาคม 2532 ซึ่งส่งผลให้สงครามภายในที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2491 สิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการ ต่อมาในเดือนสิงหาคม 2535 รัฐบาลมาเลเซียก็ได้ประกาศรับการกลับคืนของอดีตชาวสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มลายาจำนวน 220 คน

ผลจากการสิ้นสุดของสงครามคอมมิวนิสต์เช่นนี้ทำให้หลาย ๆ ฝ่ายในมาเลเซียเชื่อว่า กฎหมายความมั่นคงน่าจะต้องถูกยกเลิกไป เพราะกฎหมายนี้มีจุดกำเนิดมาจากปัญหาภัยคุกคามของคอมมิวนิสต์ ซึ่งเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์ได้ยุติสงครามปลดปล่อยของพวกเขาแล้ว ความชอบธรรมของกฎหมาย ISA ก็น่าจะหมดไป และกฎหมายก็น่าจะต้องยุติตามไปด้วย

สิ่งที่เห็นได้ชัดในทางการเมือง จากการที่กฎหมายไม่ได้ถูกยกเลิกไปพร้อมกับการสิ้นสุดของสงครามคอมมิวนิสต์ก็คือ กฎหมาย ISA กลับกลายเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการจัดการกับฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ดังจะเห็นได้ว่า ผู้ถูกจับกุมในระยะหลังมักจะเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล ตัวอย่างจากการกวาดล้างในยุทธการลาลัง (Operation Lalang) ในวันที่ 27 ตุลาคม 2530 เห็นได้ชัดว่าผู้ถูกจับกุมส่วนใหญ่ในจำนวน 65 คน เป็นนักการเมืองฝ่ายค้าน ผู้นำเยาวชน นักธุรกิจ และนักเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล เป็นต้น ในขณะที่ผู้ถูกจับกุมจากกฎหมายนี้นับจากปี 2503 เป็นต้นมานั้น ส่วนใหญ่จะเป็นชาวจีน และถูกจับด้วยข้อสงสัยที่เกี่ยวข้องกับพรรคคอมมิวนิสต์เป็นหลัก

อย่างไรก็ตามในช่วงต้นปี 2539 รัฐบาลมาเลเซียได้แสดงท่าทีว่าอยากจะทบทวนกฎหมาย ISA แต่ก็ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาไว้ ดังนั้นในช่วงปี 2539 กลุ่มเอ็นจีโอร่วมกับพรรคการเมืองฝ่ายค้านในมาเลเซียได้ร่วมกันรณรงค์ให้รัฐบาลยกเลิกกฎหมายนี้ เพราะเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐบาลสามารถคุมขังผู้ต้องสงสัยได้โดยไม่ต้องผ่านการไต่สวน (detention without trial)

ในเดือนธันวาคม 2539 ได้มีการจัดประชุมโดยกลุ่มเอ็นจีโอเพื่อแสดงให้เห็นถึงการใช้อำนาจของตำรวจในทางที่เกินเลย แต่ทางอธิบดีตำรวจของมาเลเซียได้ข่มขู่ว่า จะใช้กฎหมาย ISA จัดการกับผู้เข้าร่วมประชุม และองค์กรผู้จัดก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกนิยมลัทธิมาร์ก เป็นต้น

ในเดือนสิงหาคม 2540 รัฐบาลมาเลเซียได้ขู่ว่าจะใช้กฎหมาย ISA จัดการกับนักวิเคราะห์ด้านการเงินที่ทำนายค่าเงินริงกิต ที่กำลังตกต่ำในช่วงวิกฤตการณ์การเงินเอเชียในปี 2540 การที่รัฐบาลใช้กฎหมายความมั่นคงขู่ก็เพื่อป้องกันไม่ให้มีใครพูดถึงปัญหาเช่นนี้ เพราะจะเป็นผลในทางลบแก่ภาพลักษณ์ของเงินริงกิต

ในเดือนสิงหาคม 2541 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เสนอให้ใช้กฎหมาย ISA ในการควบคุมบุคคลที่ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ปล่อยข่าวลือในอินเตอร์เน็ต และต่อมาในเดือนกันยายนของปีเดียวกันรองนายกรัฐมนตรีอันวาร์ อินราฮิม ก็ถูกจับและคุมขังโดยรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ใช้อำนาจที่ปรากฏในกฎหมาย ISA นี้เช่นกัน ในขณะเดียวกัน รัฐบาลยังใช้กฎหมายนี้ห้ามไม่ให้ภรรยาของรองนายกรัฐมนตรีอันวาร์ พูดในที่สาธารณะอีกด้วย

แม้กระทั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมในช่วงปี 2541 ก็ได้เสนอให้รัฐบาลใช้กฎหมายนี้จัดการกับผู้ที่จับกุมได้อย่างซึ่งหน้าจากความผิดในการวางเพลิง เป็นต้น

จากการที่กฎหมาย ISA ให้อำนาจแก่ฝ่ายบริหารอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้สิทธิพิเศษแก่เจ้าหน้าที่ในการจับและคุมขังบุคคลต้องสงสัยได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านการไต่สวน จึงทำให้ในช่วงที่มีการเลือกตั้งทั้งในปี 2542 ได้มีการรณรงค์อย่างกว้างขวางเพื่อให้ยกเลิกกฎหมายดังกล่าว และในปี 2543 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 40 ปีของ ISA องค์กรสิทธิมนุษยชนของมาเลเซียหรือ SUARAM ก็ได้ขยายการรณรงค์ให้มากขึ้น

แต่หลังจากเหตุก่อการร้ายที่เกิดขึ้นกับสหรัฐอเมริกาในวันที่ 11 กันยายน 2544 รัฐบาลมาเลเซียได้ใช้เหตุการณ์ 9/11 เป็นปัจจัยในการสร้างความชอบธรรมให้กับการคงอยู่ของ ISA ซึ่งรัฐบาลได้ยืนยันถึงความจำเป็นที่จะต้องใช้กฎหมายนี้เพื่อจัดการกับปัญหาความมั่นคงใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการก่อการร้าย

ในความเป็นจริงกลับพบว่า หลังเหตุการณ์ 9/11 รัฐบาลได้ใช้กฎหมาย ISA จัดการกับการชุมนุมของขบวนการนักศึกษา หรือใช้ในการควบคุมสื่อมวลชน และแม้นายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมมัด ในระหว่างดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้แสดงท่าทีคัดค้านอย่างชัดเจนในการคัดค้านกฎหมาย ISA เช่น เขาได้กล่าวให้รัฐสภาในเดือนมีนาคม 2509 ว่า "ไม่มีคนที่มีความรับรู้อย่างถูกต้องคนใดชอบกฎหมายความมั่นคงภายใน เพราะกฎหมายนี้ขัดแย้งกับหลักการของประชาธิปไตยทุกเรื่อง" (ดูใน Parliamentary Debates, 22 มีนาคม 2509)

แต่เมื่อเขาเป็นนายกรัฐมนตรีและเป็นผู้มีอำนาจใช้กฎหมายนี้ เขากลับแสดงท่าทีตรงกันข้าม โดยเขาได้กล่าวในการประชุมระหว่างประเทศที่ประเทศดูไบว่า เขาเป็น "นักเผด็จการที่ดี" มากกว่าจะเป็น " นักประชาธิปไตยตะวันตก" ซึ่งเท่ากับการสนับสนุนให้ใช้กฎหมายเช่นนี้ต่อไปนั่นเอง

นอกจากนี้จะเห็นได้ว่า ในปี 2544 กฎหมาย ISA ถูกนำมาบังคับใช้กับการจับกุมผู้นำนักศึกษาในมาเลเซียมากขึ้น หรือรัฐบาลใช้กฎหมายนี้ในการไม่อนุญาตให้บุคคลสัญชาติมาเลเซียเดินทางออกนอกประเทศ เพราะมีรายงานว่าในการเดินทางครั้งก่อนหน้านี้ว่า บุคคลเหล่านั้นได้กล่าววิจารณ์รัฐบาลมาเลเซียในทางลบ เป็นต้น

การเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านกฎหมาย ISA ต่อมาได้ขยายตัวออกไปในวงกว้าง จนมีการก่อตั้ง "ขบวนการยกเลิก ISA" (The Abolish ISA Movement) ซึ่งถือได้ว่าเป็นการรวมตัวเป็นพันธมิตรทางการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมาเลเซียในการต่อต้านกฎหมาย ISA และแกนกลางของการเคลื่อนไหวประกอบด้วยปัญญาชน เอ็นจีโอ พรรคการเมือง และสหภาพแรงงาน

อย่างไรก็ตามหลังเหตุการณ์ 9/11 รัฐบาลมาเลเซียยืนยันอย่างหนักแน่นในการคงไว้ซึ่งการใช้อำนาจพิเศษในกฎหมาย ISA เพื่อจัดการกับการก่อการร้าย โดยนายกรัฐมนตรีมหาเธร์กล่าวว่า กฎหมายนี้จะไม่ยกเลิก เพราะมี "ประสิทธิภาพในการต่อต้านการก่อการร้าย" แต่ในอีกด้านหนึ่ง กลุ่มนักสิทธิมนุษยชนในมาเลเซีย ได้กล่าววิจารณ์ว่า รัฐบาลมาเลเซียเป็นประเทศหนึ่งที่ใช้โอกาสของสงครามต่อต้านการก่อการรายในการจัดการกับกลุ่มต่อต้านทางการเมืองภายในประเทศ

เรื่องราวของกฎหมายความมั่นคงของมาเลเซียที่มีผลกระทบต่อปัญหาสิทธิมนุษยชนเช่นที่กล่าวอย่างสังเขปในข้างต้น น่าจะเป็นข้อเตือนใจให้แก่สังคมไทยได้บ้าง เพราะกฎหมายเช่นนี้เมื่อถูกนำออกมาใช้แล้ว ก็ยากที่จะเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกได้ เว้นแต่เราเชื่ออย่างที่ผู้นำรัฐบาลมาเลเซียกล่าวไว้ว่า "การใช้กฎหมายความมั่นคงภายในก็คือสัญลักษณ์ของความรักของรัฐบาล เพื่อช่วยให้พลเมืองมีชีวิตกลับคืนสู่ปกติ" !

--------------------------------------------------------------------------------
โดย : ประชาไท วันที่ : 10/11/2550


http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=10181&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai
ผ่านร่าง พ.ร.บ. ความมั่นคง: ประวัติศาสตร์อันอดสูของประชาธิปไตยไทย - โพสท์ 10/11/2550


ประวิตร โรจนพฤกษ์


ประวัติศาสตร์อันอดสูของประชาธิปไตยไทย ได้พลิกไปสู่อีกหน้าหนึ่ง เมื่อสภารับใช้ทหารที่ชื่อว่า

http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=10181&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai
สนช. รับร่าง พ.ร.บ. ความมั่นคง โดยหลักการ เมื่อวันพฤหัสที่ 8 พ.ย. ที่ผ่านมา ผู้เขียนในฐานะที่ได้ร่วมชมฟังความอดสูนี้กับตา ณ รัฐสภา ขอคัดคำพูดสำคัญๆ ของทั้งฝ่ายสนับสนุนและต้าน ใน สนช. มาแลกเปลี่ยนกันและขอตั้งข้อสังเกตเพื่อให้ฝากกันไปคิดต่อ

“รัฐบาลนี้เสนอช้าไป ควรจะเสนอมาชาติหนึ่งแล้ว เพื่อความมั่นคงของประเทศ รอแม้กระทั่งวินาทีก็ไม่ได้เพราะไม่รู้อะไรจะเกิดเมื่อไหร่ คนเลวไม่ต้องใช้สิทธิ ใช้อำนาจเลย”


สมภพ เจริญกุล สนช.


“ประเทศเพื่อนบ้านของเรามีกฎหมายมั่นคงแบบนี้มานาน ... [พ.ร.บ.นี้] หลีกเลี่ยงไม่ได้และจำเป็นต้องทำ”


เชน วิพัฒนอมรวงศ์ สนช. (น่าจะเป้น"เชนทร์ วิพัฒน์บวรวงศ์")


“ความมั่นคงเป็นเสมือนออกซิเจน เมื่อใดที่ท่านไม่มีออกซิเจนมาหายใจท่านจะรู้สึก”

“[พ.ร.บ.นี้] เป็นยาเบาๆ หน่อยที่ทุกฝ่ายพอจะรับได้ เมื่อเทียบกับกฎอัยการศึก สิ่งที่ไม่ใช่หรือครับที่ประชาชนเรียกร้องให้ยกเลิก เราก็สนองตอบก็เลยเกิด พ.ร.บ. นี้ขึ้นมา”

“ฝ่ายทหารมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าให้ประชาชนอยู่อย่างเป็นสุข ฝ่ายทหารไม่ได้ต้องการแสวงหาอำนาจอะไร อำนาจเรามีพอแล้ว แต่เราต้องการปฏิบัติหน้าที่อันทรงเกียรติ [หาก] เป็นการกำจัดสิทธิเสรีภาพเพื่อนำความสงบสุขสู่ประชาชนส่วนใหญ่ในสังคมก็ต้องยอมรับ”

พล.อ.โชคชัย หงษ์ทอง สนช.


“อาเซียนเกือบทุกประเทศก็มี [พ.ร.บ.นี้เหมือน] เกราะอันศักดิ์สิทธิ์ที่จะคุ้มครองให้ลูกหลานต่อไป เราอย่าไปห่วงครับว่ารายละเอียดกฎหมายจะมีปัญหา เพราะชั้นนี้เป็นชั้นรับหลักการ”


ไพศาล พืชมงคล สนช.


“[ปัญหา] หากปล่อยให้ลุกลามแล้ว แม้ใช้ยาแรงก็อาจรักษาไม่ได้”

พล.อ.องค์กร ทองประสงค์


“[ร่าง พ.ร.บ. นี้] ปรับปรุงไปค่อนข้างมากแล้ว เรื่องความมั่นคงของประเทศเป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่ง ปัญหามีหลายรูปแบบ ปัญหาที่เกี่ยวกับภัยคุกคามที่อาจคาดการณ์ได้และไม่อาจคาดการณ์ได้ เช่นการแพร่ระบาด โรคระบาดจากสัตว์ถึงคน ภัยแล้ง น้ำท่วม ปัญหาความแตกแยกของคนในชาติ ปัญหาความมั่นคงทางชายแดน แรงงานต่างชาติที่ผิดกฎหมาย ปัญหายาเสพติด ปัญหาเหล่านี้มีการบีบรัดขยายตัวจนเราอาจคาดไม่ถึงเมื่อเกิดวิกฤตขึ้นมา .... จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง”


ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ

แถลงต่อ สนช.


“ผลกระทบ [ของร่าง พ.ร.บ.นี้] ร้ายแรงไม่แพ้กฎอัยการศึก ไม่แพ้กฎหมายบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน และเกิดผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคและสิทธิที่รัฐธรรมนูญให้เป็นหลักประกันสูงสุด”

“รัฐบาลและ สนช. ชุดนี้เป็นผลผลิตของรัฐประหาร ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่เราก็ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์แห่งชาติเป็นเป้าหมายสูงสุด ไม่ใช่คำนึงถึงผลประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะที่จะฉวยโอกาสเอาอำนาจไปใช้โดยไม่พิจารณาให้ดี”

“บ้านเมืองเราในขณะนี้มาไกลพอสมควรในเรื่องการเมืองระบอบประชาธิปไตย เรามาไกลเกินกว่าจะเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวากลับไปหาระบอบอำนาจนิยมให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหยิบไปใช้”

“[ผม] อ่านร่างเหมือนกับกำลังเซ็นต์เช็คเปล่าให้ผู้อื่นเอาไปกรอกจำนวนเอาเองตามใจชอบ”

“กอ.รมน.สามารถเข้าไปสวมแทน ทำแทนหน่วยงานราชการอื่น [ซึ่ง] ต้องถ่ายโอนอำนาจไปให้ กอ.รมน.ใช้ ฝากให้คิดว่าวิธีการเหล่านี้ถูกต้องหรือไม่ ... ข้าราชการทุกคนทุกฝ่ายของรัฐได้รับผลกระทบหมด [ใครจะชี้] ว่าข้าราชการผู้นี้เป็นภัยต่อความมั่นคง”

“สมัยกฎหมายต้านคอมมิวนิสต์มีประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการใช้อำนาจหน้าที่ของรัฐ ผมไม่อยากเห็นอดีตกลับมาอีกครั้งหนึ่ง”

(ประสงค์ยังได้กล่าวถึงรายละเอียดที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เช่น เรื่องอำนาจในการสั่งห้ามออกนอกเคหะสถาน และห้ามใช้เส้นทางพาหนะ)

“ม.18 [ของร่าง พ.ร.บ.] ให้ ผอ. และพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ ผอ. มอบหมายเป็นพนักงานสอบสวน คือทำได้ตั้งแต่ ป้องกัน กำหนดและปราบปราม คือจับก็ได้ สอบสวนเองอีก ไอ้นี่ กฎหมายเขียนอย่างนี้ ม.22 ในการปฏิบัติการเจ้าหน้าที่พนักงานไม่ต้องรับผิดทางแพ่งหรืออาญา หากเชื่อว่าการปฏิบัติเป็นไปตามสุจริต ก็ไม่ต้องรับโทษตาม ม.นี้ ก็หมายความว่า ม.นี้ไม่ต้องรับผิด แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นใครรับผิดชอบ และท่านละเลยกฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา”

“ทั้งหมดนี้นอกจากว่าทำลายหลักการสิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคทางกฎหมายแล้ว ทางด้านศาล ท่านอยู่เหนือ องค์กรตรวจสอบอื่นๆ ไม่มีเลย”

“กฎหมายอย่างนี้เป็นกฎหมายที่ประเทศของเรามาไกลเกินสมควรแล้วที่จะเลี้ยวซ้ายเลี้ยววาไปหาอำนาจนิยม [ร่าง พ.ร.บ.นี้] แม้แต่หลักการก็ยังไม่สมควรที่จะรับ”


ประสงค์ สุ่นศิริ สนช.


“อำนาจพิเศษ [ภายใต้ร่าง พ.ร.บ.] ก็จะกลายเป็นอำนาจที่ใช้เกือบปกติ นี่จะกลายเป็นอันตราย ที่ผ่านมา ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจอย่างไม่ถูกต้องประชาชนยังมีที่พึ่งคือศาลปกครอง

“ความกลัวบางทีไม่มีเหตุผล เป็นความหวาดระแวงสะสมมาจากอดีต ไทยเคยมีเหตุการณ์ลุอำนาจ”

“สิทธิมนุษยชนก็เหมือนออกซิเจน เพราะไม่รู้วันใดเราแจ็คพอตถูกละเมิด น่าจะมีการพูดคุย ร่าง พ.ร.บ. นี้อย่างกว้างขวาง”


โคทม อารียา สนช.


“[ร่าง พ.ร.บ.] ไม่น่าจะนำมาใช้ในเวลาที่บ้านเมืองกำลังก้าวพ้นจากเผด็จการอันสืบเนื่องมาจาก รัฐประหาร 19 ก.ย. กฎหมายฉบับนี้เป็นการทำลายบรรยากาศการให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างสิ้นเชิงและแสดงถึงความไม่จริงใจของรัฐบาลที่จะคืนอำนาจแก่ประชาชน ซึ่งดิฉันไม่เห็นด้วยและรับหลักการมิได้”


บัญญัติ ทัศนียะเวช สนช.


“[ร่าง พ.ร.บ.นี้] ใช้ถ้อยคำที่กว้างจนไม่อาจนิยามได้ หรือกรณีใดๆ ก็อาจใช้กฎหมายนี้ได้ [เพราะ] ไม่มีนิยามที่จะระบุเงื่อนไขต่อการใช้อำนาจเช่นนี้เลย”

“[หาก] รับก่อนและแปรญัตติอาจจะมีปัญหา ถึงขนาดให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการมีอำนาจถึงขนาดเหมือนเป็นเจ้าพนักงาน สอบสวนด้วย จำเป็นด้วยหรือไม่ อำนาจเจ้าหน้าที่ไปไกลค่อนข้างมาก [อำนาจ] เป็นไปโดยไม่มีกรอบระยะเวลา เหตุใดจึงยกเว้นความรับผิดทางอาญา มันเป็นอย่างเดียวกันการเซ็นเช็คไม่กรอกวันที่ กฎหมายนี้จะอยู่ต่อไปไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล ผมอยากให้ใคร่ครวญให้ดี เรื่องสิทธิเสรีภาพประชาชน”


สุรพล นิติไกรพจน์ สนช.


“อำนาจครอบจักรวาล มันกว้างมากจนกระทั่งจะทำอะไรก็ได้ในอนาคต จะมีผู้ใช้อำนาจในทางที่ผิดอย่างมาก ถ้ามันไม่ชัดเจนมันสามารถกล่าวหาใครในห้องนี้ก็ได้ว่าเป็นภัยความมั่นคง เมื่อเราเขียนกฎหมายออกมาอย่างนี้ แล้วเราจะปกป้องประชาชนผู้สุจริตได้อย่างไร [พ.ร.บ.นี้] จะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งคู่ต่อสู้ทางการเมือง”

ตวง วรรณชัย สนช.


“ผมไม่เชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้จะรักษาความมั่นคง การใช้อำนาจคนที่มีอำนาจต้องมีความรับผิดชอบและต้องมีการตรวจสอบ ไม่งั้นจะเกิดการละเมิด”


วิริยะ นามศิริพงษ์พันธุ์ สนช.


“สองสามวันนี้ ผมนอนไม่หลับ ครุ่นคิดว่าควรรับโดยหลักการไปก่อนไหม [ร่าง พ.ร.บ. นี้] มีโอกาสขัดรัฐธรรมนูญได้มากในหลายมาตรา และเป็นสัญญาณไม่ดีต่อการเลือกตั้งที่จะมาถึง”

“ร่าง พ.ร.บ.นี้ พูดถึงอำนาจหน้าที่อย่างกว้างขวางครอบจักรวาล นิยามยังไม่ชัดเจน หลักการยังไม่ได้ถกให้ตก ลำบากที่จะเห็นด้วยกับหลักการกฎหมายฉบับนี้”


สุริชัย หวันแก้ว สนช.


“[ร่าง พ.ร.บ. นี้] จำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคล ถึง 10 มาตรา [ในรัฐธรรมนูญ] ทีเดียว ที่จริงมาตราเดียวก็มากเกินไปแล้ว [อำนาจในการยกเลิก] เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและรายงานข่าวอันนี้เท่ากับทำลายผมทั้งชีวิตเลย”

“ผมเกิดมา 59 ปีก็เพิ่งเจอวันนี้ ท่านจะดักฟังโทรศัพท์ อีเมลของผม แน่นอนเลย ถ้าสงสัยว่าผมเป็นภัย”

“ถ้าจะทำอย่างนี้ไม่มีพลเมืองใดที่จะให้ตัวแทนของเขาออกกฎหมายปิดกั้น จำกัด”


สมเกียรติ อ่อนวิมล สนช.


“แทนที่จะแก้ปัญหาเรากลายเป็นสร้างปัญหามากขึ้นหรือไม่”


โสภณ สุภาพงษ์ สนช.


ฟังดูแล้ว ผู้อ่านควรจะคิดต่อ เพราะผลกระทบนั้นจะใหญ่หลวงนัก สำหรับผู้เขียนขอตั้งข้อสันนิษฐานเบื้องต้น ดังนี้

หนึ่ง พ.ร.บ. นี้ได้ทำให้สิทธิภายใต้กฎหมายทั่วไป และรัฐธรรมนูญฉบับทหารไร้น้ำยา

สอง พวกนักวิชาการ และภาคประชาสังคมที่เข้าไปอยู่ในสภาหุ่นกระบอกนี้ เช่น สุริชัย หวันแก้ว โคทม อารียา สุรพล นิติไกรพจน์ ได้ช่วยเป็นตัวละครประกอบให้กับการผ่านร่างกฎหมายเผด็จการนี้ [โดยรู้ตัวหรือเจตนาหรือไม่ก็ตาม] และทำให้การลงคะแนนรับร่าง พ.ร.บ. ดูมีความเป็น ‘อิสระเสรี’ และ ‘ประชาธิปไตย’ ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่มีอะไรที่เป็นประชาธิปไตยเกี่ยวกับสภานี้ ซึ่งถูกกลุ่มทหารที่ก่อรัฐประหารแต่งตั้งแม้แต่น้อย คนเหล่านี้ได้ทำร้ายประชาชน และสังคม ประวัติศาสตร์จะจารึกถึงแม้พวกเขาอาจจะโหวตต้าน พ.ร.บ. ก็ตาม ว่าพวกเขาคือพวกสมรู้ร่วมคิดชนิดหนึ่ง สมรู้ร่วมคิดให้การผ่านร่างกฎหมายนี้ดูเหมือนมีความชอบธรรม

สาม จากนี้ไป ประชาชนคงต้องเสียเลือดเนื้อ เสรีภาพอีกมาก จนกว่าจะสู้มาได้ซึ่งสิทธิเสรีภาพตามที่ทุกคนพึงมี นี่กลายเป็นการถอยหลังลงคลองไปยิ่งกว่ายุคทักษิณหรือยุค รสช. เสียอีก วันพฤหัสที่ 8 พ.ย. เป็นวันแห่งโศกนาฎกรรมของประชาธิปไตยไทยวันหนึ่ง


สี่ ทางผู้สนับสนุนทั้งใน สนช. และนอก สนช. อ้างว่า อำนาจสูงสุดจะอยู่ที่ตัวนายกรัฐมนตรีที่น่าจะมาจากการเลือกตั้งและเป็น ผอ.รมน. โดยตำแหน่ง ภายใต้ร่าง พ.ร.บ.นี้ แถมคณะรัฐมนตรีจะต้องรับทราบ ปัญหาคือ แม้สมัยทักษิณ ซึ่งใครๆ ก็บอกว่า เป็นยุคที่นายกฯ เรืองอำนาจมาก ทหารก็ยังก่อรัฐประหารได้ เพราะฉะนั้นไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่า ตัว รอง ผอ.รมน. ซึ่งตามตำแหน่งเป็น ผบ.ทบ. จะไม่กลายเป็นผู้กุมอำนาจครอบจักรวาลตัวจริง รัฐธรรมนูญยังฉีกได้เลย นับอะไรกับ พ.ร.บ. สามานย์นี้

ห้า ภาคประชาชนควรถามแต่ละพรรคที่กำลังแข่งขันเลือกตั้งว่าจุดยืนต่อเรื่อง พ.ร.บ. นี้เป็นอย่างไร และล่าลายเซ็นต์ล้มกฎหมายนี้รวมถึงกฎหมายเผด็จการอื่นๆ ที่ทำคลอดภายใต้รัฐบาลทหาร

หก ดูเสียงโหวต 101 ต่อ 20 แล้ว หมดหวังว่าการแปรญัตติจะนำไปสู่อะไรที่ดีขึ้น เพราะโหวตกี่ที พวกที่อ้างว่า ‘หวังดี’ และไปอยู่ใน สนช. ก็คงแพ้ ดีไม่ดี มันจะแปรญัตติให้กฎหมายนี้เลวร้ายขึ้นอีกด้วยซ้ำไป

เจ็ด ประชาชนควรเตรียมศึกษาการใช้กฎหมายความมั่นคงในสิงคโปร์และมาเลเซียให้จงดี เพราะเขากดขี่และละเมิดสิทธิประชาชนกันมาเป็นสิบๆ ปีแล้ว หากคุณเท่าทันรัฐและสถาบันสำคัญต่างๆ นั่งๆ นอนๆ เขาก็อาจลากคุณเข้าตารางโดยไม่ต้องขอหมายศาลได้

แปด ทหารเตรียมเฮได้เลย (จริงๆ พวกเขาคงเฮไปแล้ว เพราะงบประมาณใช้จ่ายเรื่องความมั่นคงจะเพิ่มจนนับแบงค์แทบไม่ทัน แต่อย่าเพิ่งดีใจจนเกินงาม เพราะสุดท้าย การปะทะกันระหว่างประชาชนผู้รัก ประชาธิปไตยและความเป็นธรรม จะต้องเกิดขึ้น พวกเขาจะต่อสู้กับกฎหมายเถื่อน ที่ชงโดยรัฐบาลเถื่อน และอนุมัติ โดยสภาเถื่อน เพราะประชาชนคงไม่ยอมเป็นควายให้พวกนี้จูงจมูกไปตลอดชีวิต


สุดท้าย ระหว่างนี้ เรามาคั่นเวลาเล่นเกมทายกันไหมว่า ใครและกลุ่มไหนจะโดนอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญภายใต้ พรบ. ความมั่นคงภายใน ลากไปขังทรมานก่อนกัน กลุ่มวิพากษ์เจ้า กลุ่มวิพากษ์ทหาร กลุ่มต้านเผด็จการการเมือง หรือกลุ่มแบ่งแยกดินแดน

คำตอบอาจเป็นว่าใครก็ได้ ที่ต่อต้าน พ.ร.บ. นี้ หรือที่ผู้มีอำนาจไม่ชอบใจ


--------------------------------------------------------------------------------
โดย : ประชาไท วันที่ : 10/11/2550


http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=10183&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai
YPD. ประณาม 101 สนช. สืบทอดอำนาจรัฐทหารถาวร


ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ YPD. ออกแถลงการณ์ประนาม สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 101 คน ที่ลงมติรับ รับหลักการร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักรฯ และตั้งกรรมาธิการร่วมเพื่อพิจารณาและแปรญัตติในเรื่องดังกล่าวต่อไป


ทั้งนี้ ในแถลงการณ์ระบุว่า กฏหมายดังกล่าวเป็นกฏหมายที่ให้อำนาจกองทัพใช้อำนาจถาวรเทียบเคียงกับกฏอัยการศึก และทับซ้อน 3 อำนาจอธิปไตยของชาติไทย เนื่องจากให้อำนาจครอบจักรวาล ออกข้อกำหนดห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติการหรืองดการปฏิบัติการได้ ห้ามเข้าหรือให้ออกจากบริเวณพื้นที่ที่กำหนดได้ ห้ามออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนด ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ ซึ่งเท่ากับว่า สามารถออกกฏหมายนิติบัญญัติได้ในตัว รวมทั้งประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชบัญญัตินี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง เท่ากับว่า กองทัพมีอำนาจซ้อนฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล นอกจากนี้ การปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย ซึ่งเท่ากับว่า กองทัพมีอำนาจเหนือฝ่ายตุลาการโดยไม่ต้องถูกตรวจสอบอีกด้วย


กองทัพในนาม กอ.รมน. ยังมีอำนาจแต่งตั้งข้าราชการและลูกจ้างของกองทัพภาค รวมทั้งข้าราชการ พนักงาน และยังสามารถเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้างที่ได้รับคำสั่งให้มาปฏิบัติงานใน กอ.รมน.ภาค และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของ กอ.รมน.ภาคได้ ซึ่งนั่นคือการสร้างรัฐซ้อนรัฐขึ้น


YPD จึงขอประณามการกระทำของ 101 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่รับหลักการกฏหมายดังกล่าว เพื่อสืบทอดอำนาจรัฐทหารในประเทศไทย ซึ่งกำลังเหมือนกับสถานการณ์ในประเทศปากีสถานในขณะนี้ ที่มีการประกาศกฏอัยการศึกทั่วประเทศ ซึ่งก็คือ การรัฐประหารซ้อนทางการเมืองนั่นเอง และ มีข้อเรียกร้องให้ สนช. ทั้ง 101 คน ทบทวนจิตสำนึกผิดชอบชั่วดี และพิจารณาตัวเองด้วยการลาออก เพราะนอกจากการสนับสนุน “มติอัปยศ” แล้ว ยังเข้าใจผิดคิดว่า ตนเองรับเงินเดือนจากทหาร หรือคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) อีกด้วย


ประการต่อมาให้กรรมาธิการพิจารณากฏหมายดังกล่าว ใน สนช. เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ ก่อนการพิจารณาวาระ 3 เพื่อตัดสินใจผ่านหรือไม่ผ่านกฏหมายดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศมีส่วนร่วม รับรู้และแสดงความเห็นต่อกฏหมายดังกล่าวอย่างกว้างขวาง

ประการสุดท้าย ขอเรียกร้องให้ประชาชนทั่วประเทศ ร่วมคัดค้านกฏหมายดังกล่าว โดยเฉพาะพรรคการเมืองทุกพรรค ตุลาการทุกสาย นักกฏหมายทุกคน เพราะความมั่นคงของรัฐ ไม่เคยเป็นความมั่นคงของส่วนรวม ตราบใดที่การตีความเรื่องความมั่นคงของชาติ อยู่ในอำนาจการตีความของ กอ.รมน. เฉพาะแต่เพียงผู้เดียว

--------------------------------------------------------------------------------
โดย : ประชาไท วันที่ : 10/11/2550


http://news.sanook.com/politic/politic_208894.php
สนช.รับหลักการพ.ร.บ.มั่นคงประสงค์เทียบเซ็นเช็คเปล่าผู้อื่นกรอก
โดย คม ชัด ลึก วัน ศุกร์ ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 03:17 น.


สนช.รับหลักการร่างพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ101 ต่อ 20 เสียง ด้าน ประสงค์ ตำหนิครม.ขิงแก่ไม่ให้ความสำคัญการอภิปรายทั้งที่เป็นเรื่องใหญ่ เปรียบเซ็นเช็คเปล่าให้ผู้อื่นกรอก นายกรัฐมนตรี-ผบ.ทบ.ประสานเสียง ประเทศไทยจำเป็นต้องใช้ พ.ร.บ.มั่นคง
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร 101 ต่อ 20 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว 24 คน ส่วนใหญ่เป็นสมาชิก สนช.ทั้งสิ้น โดยใช้เวลาพิจารณา 7 วัน

ก่อนหน้านี้นายธีรภัทร์เสรีรังสรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนคณะรัฐมนตรีนำเสนอร่างกฎหมาย โดยย้ำถึงหลักการและเหตุผลที่จะจัดระบบการบริหารจัดการปัญหาความไม่สงบของบ้านเมือง โดยระบุว่ารัฐบาลได้แก้ไขร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้หลายครั้ง ก่อนส่งให้ สนช.พิจารณาได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกาและ ครม.แล้ว และคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ปนช.) ก็เสนอให้แก้ไขหลายประเด็น หากกฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้สามารถยกเลิกกฎอัยการศึกที่ยังมีอยู่ในบางพื้นที่ บางอำเภอได้ทันที

ขณะที่น.ต.ประสงค์สุ่นศิริ สมาชิก สนช.อภิปรายตำหนิรมว.มหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงกลาโหม ที่ไม่มารับฟังความเห็นของ สนช. ทั้งๆ ที่มาขออำนาจจากสภาแห่งนี้ไปใช้ ถ้าสภาออกกฎหมายฉบับนี้ จะร้ายแรงไม่แพ้กฎอัยการศึก และ พ.ร.บ.สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีอยู่แล้ว ซึ่ง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีเนื้อหาใกล้เคียงกับ พ.ร.บ.ปราบปรามการกระทำอันป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งถูกยกเลิกไปเมื่อปี 2542 ทั้งนี้เห็นด้วยที่จะให้หน่วยงาน กอ.รมน.มีกฎหมายรองรับชัดเจน แต่ไม่ใช่เอาอำนาจบังคับคนอื่นผิดกฎหมายอาญา แพ่งหรือละเมิดกติกาของศาล

อ่าน พ.ร.บ.นี้ทั้งหมดแล้วเหมือนเซ็นเช็คเปล่าให้ผู้อื่นไปกรอกจำนวนตามใจชอบ วันนี้สังคมมีปัญหาหลายอย่าง แต่รัฐบาลกลับขออำนาจเข้ามาอีก เห็นด้วยที่จะทำบ้านเมืองมั่นคง แต่ต้องเป็นความมั่นคงแห่งรัฐ และประชาชนที่สามารถมีชีวิตอย่างสงบ ปลอดภัยภายใต้กฎหมายที่เป็นธรรม ไม่ใช่เพื่อความมั่นคงของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง น.ต.ประสงค์ กล่าว

พล.อ.โชคชัยหงษ์ทอง และนายเชนทร์ วิพัฒน์บวรวงศ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อภิปรายสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร โดยเห็นว่า ควรจะมีกฎหมายที่เหมาะสมนำมาใช้กับสถานการณ์บ้านเมืองต่อไป หากยกเลิกกฎอัยการศึก และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินแม้จะกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนบ้าง แต่ก็เป็นบางส่วนเท่านั้น ขณะเดียวกันผู้มีอำนาจ คือนายกรัฐมนตรี มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จึงเชื่อว่าจะมีดุลพินิจอย่างเหมาะสมได้

ขณะที่พล.อ.สุรยุทธ์จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวัน เพื่อแสดงความยินดีแก่เยาวชนดีเด่นแห่งชาติ และผู้มีผลงานดีเด่น โดยตอบคำถามถึงความจำเป็นที่รัฐบาลต้องเสนอร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักรว่า การออกกฎหมายฉบับนี้ ไม่ต้องการใช้เฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ แต่เตรียมไว้สำหรับอนาคต เพื่อป้องกัน และแก้ไขปัญหาเรื่องการลักลอบเข้าเมือง ปัญหาการค้ายาเสพติด ปัญหาตามแนวชายแดน ปัญหาการค้ามนุษย์ ทั้งนี้รัฐบาลไม่ต้องการใช้กฎอัยการศึก เพราะรุนแรง ล้าหลัง จึงเห็นความจำเป็นต้องมี พ.ร.บ.ความมั่นคง เพื่อมอบอำนาจให้แก่เจ้าหน้าที่ ไว้ป้องกัน และแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น โดยมีกฎหมายรองรับ ทั้งนี้ไม่ต้องการใช้กฎอัยการศึก จึงควรมี พ.ร.บ.ความมั่นคงแทน

ผมเป็นคนที่เสนอร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ด้วยตัวเอง เพราะมีประสบการณ์ตรง กรณีเหตุการณ์ที่ราชบุรี มีกองกำลังจากต่างชาติเข้ามายึดโรงพยาบาล แต่ผมถูกดำเนินคดีในศาลถึง 4 ปี สุดท้ายศาลก็ตัดสินว่าไม่ผิด เราไม่ได้ออกกฎหมายฉบับนี้มาเพื่อบังคับใช้กับคนไทย และไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองในอนาคต นายกรัฐมนตรี กล่าว

ด้านพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก และในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เป็นประธานสรุปผลปฏิบัติงานประจำปี 2550 และแผนการปฏิบัติงานปี 2551 ว่า ในปี 2551 ไม่ว่ากฎหมาย พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในจะเกิดขึ้นหรือไม่ กอ.รมน.จะเปลี่ยนการทำงานเล็กน้อย เพื่อตอบสนองกับการแก้ปัญหาภัยคุกคามต่างๆ และระลึกเสมอว่า ภัยคุกคามมีจริง และควรมีกฎหมายเฉพาะ

เมื่อถามว่าขณะนี้มีเสียงคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคง เพราะไปกระทบต่อสิทธิประชาชน พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ในเจตนาของตนอยากให้มีกฎหมายแค่เพียงพอให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานได้


http://www.pantip.com/cafe/rajdumnern/topic/P6001585/P6001585.html
มาตรา 18 ช่างร้ายกาจนัก


น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า ใน ม.18 ให้อำนาจทหารในการจับกุมและสอบสวนได้เอง ม.21 ที่ระบุว่าการกระทำตามหมวดนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายปกครอง และม.22 ที่ยกเว้นเจ้าหน้าที่ไม่ต้องถูกเอาผิดทั้งทางทางแพ่ง อาญา หรือวินัย ทำให้กฎหมายฉบับนี้ไม่มีระบบการถ่วงดุลอำนาจเลย

http://news.sanook.com/politic/politic_208873.php

*************************************

เกิดเห็นเหล่าอมยิ้มที่สนับสนุนพรรคพลังประชาชนทั้งหลายมีอันตรายต่อความมั่นคง อะไรจะเกิดขึ้นช่วยตอบที

แก้ไขเมื่อ 09 พ.ย. 50 02:28:40

จากคุณ : หนุ่มใหญ่ปะแป้ง - [ 9 พ.ย. 50 02:14:30 A:58.8.98.176 X: ]

ความคิดเห็นที่ 1


กาโหล กาโหล
มาตรา 22 ก็ใช่ย่อยนิ


จากคุณ : หนุ่มใหญ่ปะแป้ง - [ 9 พ.ย. 50 02:17:54 A:58.8.98.176 X: ]


http://www.innnews.co.th/Politic.php?nid=71760
101สนช.ไม่ฟังเสียงค้านรับร่างพรบ.ความมั่นคงแล้ว
โดยทีมข่าว INN News 08 พฤศจิกายน 2550 20:49:46 น.
มติ สนช.101 ต่อ 20 เสียง รับร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคง ตั้ง กมธ.แปรญัตติ ใน 7 วัน


หลังใช้เวลานาน 6 ชั่วโมงในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ซึ่งมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ล่าสุดที่ประชุมสภานิติบัญญัติ หรือ สนช.ได้มีมติ 101 ต่อ 20 เสียง ในการรับหลักการร่างกฎหมายดังกล่าว โดยตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญร่างกฎหมายจำนวน 24 คน อาทิ นายวิษณุ เครืองาม, พลเอกสมเจตน์ บุญถนอม, นายโคทม อารียา โดยกำหนดกรอบเวลาในการแปรญัตติทั้งสิ้น 7 วัน

ทั้งนี้ นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ยืนยันด้วยว่า การเสนอร่างกฎหมายครั้งนี้ไม่ได้เป็นการออกมาเพื่อที่ต้องการคานอำนาจให้กับรัฐบาลชุดนี้ แต่จะเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในอนาคตในการดูแลเรื่องของความมั่นคงภายใน นอกจากนี้กฎหมายดังกล่าวยังไม่ได้ปิดช่องทางในการตรวจสอบอย่างที่มีกังวลด้วย ซึ่งหากใครที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้ร่างกฎหมายฉบับนี้ก็สามารถที่จะฟ้องร้องในกระบวนการยุติธรรมได้


http://news.sanook.com/politic/politic_208873.php
สนช.รับหลักการพรบ.ความมั่นคง101เสียงหลังถกเดือด
โดย คม ชัด ลึก วัน พฤหัสบดี ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 00:00 น.

“สนช.” ถกเดือด “พ.ร.บ.มั่นคง” หนุน-ต้าน “ประสงค์” ถล่มยับ กม. เซ็นเช็คเปล่า ประเคนอำนาจกอ.รมน. “สื่อ-นักวิชาการ” ขวางสุดตัว ขณะที่สายทหารยันต้องมีเครื่องมือให้จนท.สยบความรุนแรง “ธีรภัทร์” ออกตัว แค่ป้องกัน แจงยิบ ภัยร้ายคุกคามพัฒนาหลายรูปแบบจำเป็นต้องมีกฎหมายรับมือ ในที่สุดลงมติรับหลักการ 101เสียง ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาต่อ

นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เป็นประธานการประชุมสนช. ได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักรพ.ศ..........ที่เสนอโดยรัฐบาลนายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงเหตุผล ว่า ปัจจุบันมีปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงจากบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่มีหลากหลาย มีความรุนแรงรวดเร็วสามารถขยายตัวจนส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง และสลับซับซ้อน จนอาจกระทบเอกราชและบูรณภาพแห่งอาณาเขต เป็นภัยอันตรายความสงบสุขประชาชน ฉะนั้นเพื่อให้สามารถป้องกันและระงับภัยที่เกิดขึ้นได้ทันท่วงที ควรกำหนดให้มีหน่วยปฏิบัติงานหลักเพื่อปฏิบัติร่วมกับทุกส่วนราชการ ส่งเสริมประชาชนมีส่วนร่วมรักษาความมั่นคง เสริมสร้างความเข้มแข็งในท้องถิ่นของตน ทั้งในยามปกติ และยามมีสถานการณ์ กำหนดให้มีการควบคุมการใช้อำนาจเป็นการเฉพาะตามระดับความรุนแรงของสถานการณ์ จะได้แก้ไขสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายธีรภัทร์ กล่าวว่า รัฐบาลได้แก้ไขร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้หลายครั้ง ก่อนที่จะส่งให้สนช.พิจารณาได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกาและครม.แล้วและคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญัติแห่งชาติ(ปนช.) ก็เสนอให้แก้ไขหลายประเด็น เช่น ตัดทิ้งเรื่องการห้ามชุมนุม การแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม การกำหนดให้ผู้ทหารสูงสุดเป็นรองผอ.รมน.และให้เสนาธิการทหาร เป็นเลขาธิการกอ.รมน. แทนเสธ.ทบ.

“ปัจจุบันการก่อการร้ายหรือภัยคุกคามได้พัฒนาไปมาก ทั้งอาชญากรรมข้ามชาติ ภัยคุกคามที่ทั้งคาดการณ์ได้และไม่ได้ การแพร่ระบาดของโรคภัยธรรมชาติ ภัยที่เกิดจากการอยู่ร่วมกันในสังคมที่แตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา เผ่าพันธุ์ หรือการแตกความสามัคคีของคนในชาติ ดังนั้นแนวทางการป้องกันก่อนมีภัยจึงสำคัญ แต่โครงสร้างการจัดการปัญหาของรัฐบาลที่มีอยู่ มีปัญหาค่อนข้างมาก มีการทับซ้อนในอำนาจและหน้าที่ระหว่างหน่วยงานผู้ปฏิบัติ โดยเฉพาะกอ.รมน.ยังมีปัญหาในเรื่องอำนาจทำให้การทำงานไม่ต่อเนื่อง ทำให้ที่ผ่านมาประเทศต้องตกอยู่ในภาวะคับขันจนต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน”นายธีรภัทร์ กล่าว

ทั้งนี้ หากกฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้สามารถยกเลิกกฎอัยการศึกที่ยังมีอยู่ในบางพื้นที่ บางอำเภอได้ทันที รวมทั้งยังมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนใน กทม เชียงใหม่และขอนแก่น รวมถึงเวทีจากนักวิชาการ จนได้ข้อสรุปนำไปสู่การปรับปรุงเรื่องการลิดรอนสิทธิให้ทำเฉพาะที่จำเป็นและต้องใช้กฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เปิดให้ผู้แทนจากฝ่ายการเมืองที่เป็นตัวแทนประชาชนมากำกับดูแล เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างการสร้างความมั่นคงกับการให้สิทธิเสรีภาพประชาชน เพื่อให้การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่มีความเหมาะสม


น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ สนช. กล่าวว่า รู้สึกเสียใจที่ผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องความมั่นคงระดับนโยบายทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะรมว.กลาโหม มหาดไทย และต่างประเทศ ไม่มาอยู่ที่นี่เพื่อรับฟังความเห็นของสนช.ทั้ง ๆ ที่ท่านมาขออำนาจจากสภาแห่งนี้ไปใช้ การรักษาความมั่นคงของชาติบ้านเมืองนั้น จำเป็นต้องคำนึงถึงเนื้อหาสำคัญของมาตรการและวิธีการต่าง ๆ ที่จะนำมาปฎิบัติว่าถูกต้องเหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมือง รัฐธรรมนูญ หรือสภาพการเมืองปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือไม่ และสอดรับกับกฎหมายอาญา กฎหมายแพ่ง หรือกฎอัยการศึก พ.ร.บ.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่เป็นเครื่องมือในการรักษาความมั่นคงในปัจจุบันหรือไม่ ถ้ารัฐบาลไม่คำนึงถึงแล้วให้สภาออกกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาอีก ผลที่เกิดจากพ.ร.บ.ฉบับนี้จะร้ายแรงไม่แพ้กฎอัยการศึก และพ.ร.บ.สถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีอยู่แล้ว และจะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคและการมีส่วนร่วมของประชาชนที่รัฐธรรมนูญให้หลักประกันไว้

“รัฐบาลและสนช.ชุดนี้ เราต่างมีหน้าที่ในการทำงานของแต่ละฝ่ายแม้ว่าเราจะมาจากที่แห่งเดียวกัน คือเป็นผลผลิตจากการรัฐประหาร ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่การทำอะไรก็ต้องคิดถึงผลประโยชน์แห่งชาติ ไม่ต้องการให้มีพวกแบ่งกลุ่ม ฉวยโอกาส ได้อำนาจไปใช้โดยไม่พิจารณาให้ดี ไม่รอบคอบ ผมพยายามทำหน้าที่เพื่อสร้างหลักนิติธรรม แม้ว่าเราจะเป็นเพื่อนฝูง พี่น้องกัน เรียนด้วยกัน ก็ต้องแยกแยะผลประโยชน์ของชาติเอาไว้ต่างหาก เราต้องทำตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ สนช.ต้องคิดถึงผลประโยชน์ของประชาชนให้มากที่สุด”น.ต.ประสงค์ กล่าว

น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า สมัยหนึ่งเรามีพ.ร.บ.ปราบปรามการกระทำอันป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งถูกยกเลิกไปเมื่อปี 2542 เพราะไม่มีคอมมิวนิสต์แล้ว เมื่อไม่มีเหตุการณ์แล้วก็ต้องยกเลิก จากนั้นกองทัพบกก็เสนอกฎหมายความมั่นคงเข้ามาประกอบด้วย 15 มาตรา โดยจำลองมาจากพ.ร.บ.ที่ถูกยกเลิกไป และพ.ร.บ.ความมั่นคงฉบับนี้ก็มีเนื้อหาใกล้เคียง คล้ายคลึงกับที่กองทัพพยายามเสนอมามากแถมยังมีการเพิ่มขยายออกไปอีก อย่างไรก็ตาม ตนเห็นด้วยที่จะให้หน่วยงานกอ.รมน.มีกฎหมายรองรับชัดเจน แต่ไม่ใช่เอาอำนาจบังคับคนอื่นผิดกฎหมายอาญา แพ่งหรือ ละเมิดกติกาของศาล

ตนขอยกบางมาตราที่มีปัญหาในพ.ร.บ.ฉบับนี้ เริ่มจาก ม.6 (5) ย่อหน้าที่สอง ที่ระบุว่าถ้ามีความจำเป็นครม.มีอำนาจแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งใดๆในกอ.รมน.เป็นเจ้าพนักงานได้ ฝากให้รัฐบาลคิดว่าวิธีการถ่ายโอนอำนาจเช่นนี้ถูกต้องหรือไม่ ม.14(4) เรื่องการสั่งให้เจ้าหน้าที่ที่มีพฤติกรรมว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักรหรือเป็นอุปสรรคต่อการรักษาความมั่นคงภายในออกจากพื้นที่ที่กำหนด นั้นขอถามว่าอะไรเป็นตัวชี้วัดว่าเจ้าหน้าที่คนใดเป็นภัยต่อความมั่นคง

สำหรับ ม.17 ที่ว่าด้วยเรื่องการให้อำนาจในการออกข้อกำหนดให้ประชาชนห้ามออกนอกเคหสถาน ห้ามเข้าออกบริเวณพื้นที่อาคาร หรือห้ามใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ การใช้อำนาจขนาดนี้ทำให้เกิดปัญหาในปัจจุบันที่มีประชาชน 300 กว่าคนถูกเจ้าหน้าที่นำตัวมาที่ศูนย์ฝึกอาชีพ 4 เดือนและจะขยายเวลาออกไปอีก โดยไม่สามารถกลับบ้านได้ ทำให้เขาไม่สามารถทำมาหากินได้ ถามว่าเขาจะเอาอะไรมาเลี้ยงดูตัวเอง ทั้งที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ทราบได้ว่ากระทำความผิดอะไร

น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า ใน ม.18 ให้อำนาจทหารในการจับกุมและสอบสวนได้เอง ม.21 ที่ระบุว่าการกระทำตามหมวดนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายปกครอง และม.22 ที่ยกเว้นเจ้าหน้าที่ไม่ต้องถูกเอาผิดทั้งทางทางแพ่ง อาญา หรือวินัย ทำให้กฎหมายฉบับนี้ไม่มีระบบการถ่วงดุลอำนาจเลย

“ประเทศของเรามาไกลเกิน ที่จะเลี้ยวซ้ายขวากลับไปหาระบบอำนาจนิยม แต่อ่านพ.ร.บ.นี้ทั้งหมดแล้วเหมือนกับเรากำลังเซ็นเช็คเปล่าให้กับผู้อื่นไปกรอกจำนวนเอาเองตามใจชอบ สนช.ไม่สมควรที่จะรับหลักการของกฎหมายนี้ วันนี้สังคมเรามีปัญหาที่กังวลใจหลายอย่างทั้งภาคใต้ ปัญหาเศรษฐกิจ ความแตกแยกในสังคม แทนที่รัฐบาลจะเอาใจใส่แก้ไข กลับเสนอขออำนาจเข้ามาอีก ผมเห็นด้วยที่จะเห็นบ้านเมืองมั่นคง แต่ต้องเป็นความมั่นคงแห่งรัฐ เป็นความมั่นคงของประชาชนที่สามารถจะมีชีวิตอย่างสงบ ปลอดภัย เป็นปกติสุขภายใต้กฎหมายที่เป็นธรรม ไม่ถูกทำร้าย ไม่ใช่เพื่อความมั่นคงของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง”น.ต.ประสงค์ กล่าว พล.อ.โชคชัย หงส์ทอง สนช. อภิปรายสนับสนุนว่า ความมั่นคงเปรียบเหมือนออกซิเจนหายใจ ถ้าไม่มีถึงจะรู้สึก และจะไปซื้อหาก็ไม่ทัน ฉะนั้นความจำเป็นที่ต้องมีกฎหมายฉบับนี้ ในอดีตประเทศมีพ.ร.บ.ป้องกันคอมมิวนิสต์ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก และพ.ร.บ.ผู้อำนวยความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ทำให้เจ้าหน้าที่ป้องกันและแก้ไขปราบปรามตอบโต้เหตุการณ์ต่าง ๆ สงบลงได้ แต่ก็เป็นยาแรงไม่เหมาะกับสถานการณ์ จึงเป็นที่มาของกฎหมายฉบับนี้ เป็นยาเบาหน่อยและทุกฝ่ายยอมรับได้ เอาไปแทนกฎอัยการศึกและพ.ร.ก.ภาวะฉุกเฉินที่ประชาชนเรียกร้องให้ยกเลิก

ทั้งนี้ฝ่ายทหารปรารถนา มุ่งมั่นที่จะให้ประชาชนเป็นสุขและสงบสุข ไม่ได้ต้องการแสวงหาอำนาจอันใด เพียงแต่ต้องการเครื่องมือปฏิบัติภารกิจตามที่ประชาชนมอบอำนาจไว้ให้ทหารในรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้เรื่องสิทธิเสรีภาพ ทหารตระหนัก และต้องการปกป้องคุ้มครองคนส่วนใหญ่ไม่ให้คนกลุ่มน้อยมาละเมิดสิทธิ์ กรณีนี้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ส่วนใหญ่จะได้ประโยชน์ คนไม่ดีเท่านั้นที่จะลำบาก

พล.อ.โชคชัย กล่าวต่อว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ ตัดเรื่องละเมิดสิทธิ์ออกเยอะแล้ว แต่ยอมรับว่ามีอยู่บ้าง แต่เพื่อความสงบสุข ประชาชนก็ต้องยอมรับการตัดสิทธิ์บ้าง และกฎหมายก็มีข้อยกเว้น ทั้งนี้เมื่อสภาพิจารณาในวาระ 1 ก็ยังต้องมีการพิจารณาปรับแก้ไข ข้อโต้แย้งที่ไม่ดี ก็ไปว่ากันประนีประนอมในขั้นกรรมาธิการได้ให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เชื่อว่าคงไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดจะออกกฎหมายมาเพื่อให้ประชาชนเกลียด ซึ่งขณะนี้ตนพอรับหลักการของกฎหมายได้

นายเชนทร์ วิพัฒน์บวรวงศ์ สนช.และอดีตผู้ว่าราชการจังหวัด อภิปรายว่า ขอสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้เพราะประเทศไทยประสบปัญหาสถานการณ์ความมั่นคง ซึ่งหลายประเทศที่เจอปัญหาแบบนี้ก็มีกฎหมายลักษณะดังกล่าว ทั้งนี้เมื่อดูหลักการแล้วก็เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย มีนายกรัฐมนตรีที่มาจากประชาชนเป็นผอ.รมน.และการตัดสินใจใดๆก็มาจากมติครม. รวมถึงมีการเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยมีกอ.รมน.ภาค ที่มีประชาชนเป็นที่ปรึกษาจำนวนมากพอสมควร

หลักการพวกนี้จึงสะท้อนว่ากฎหมายไม่ต้องการละเมิดสิทธิ์ประชาชน และยังมีหลักการป้องกันผู้ใช้อำนาจ ใช้อำนาจเกิน รัฐธรรมนูญก็กำหนดไว้แล้วว่าประชาชนสามารถฟ้องศาลได้ ซึ่งข้อดีของกฎหมายนี้เพื่อให้ฝ่ายความมั่นคงมีเครื่องมือการดูแลความมั่นคงได้ทันท่วงที เพราะมีการกำหนดองค์กรรับผิดชอบ ดูแลความมั่นคงอย่างเป็นจริงเป็นจัง และมีการกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติที่ชัดเจน

นางบัญญัติ ทัศนียาเวช สนช. กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจเด็ดขาดกับเจ้าหน้าที่ในการปราบปรามยับยั้งภัยความมั่นคง แต่คำว่าภัยความมั่นคงในกฎหมายฉบับนี้ตีความได้ทุกกรณี ดังนั้น ไม่น่าจะนำกฎหมายนี้มาบังคับในช่วงบ้านเมืองกำลังจะก้าวพ้นจากการถูกตราหน้าว่าเป็นเผด็จการจากกรณีรัฐประหาร 19 ก.ย. นอกจากนี้ประเทศกำลังใช้รัฐธรรมนูญ 50 ที่ให้สิทธิเสรีภาพประชาชนมากที่สุดและกำลังจะเข้าสู่การเลือกตั้งเพื่อกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตย

“ แต่กฎหมายนี้ได้ทำลายบรรยากาศการให้สิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยสิ้นเชิงแสดงถึงแก่นแท้รัฐบาลที่ต้องการมีอำนาจอยู่ในมือ ไม่แน่ใจว่าการเลือกตั้งจะถูกแทรกแซงหรือไม่ แสดงให้เห็นความไม่จริงใจของรัฐบาลที่จะคืนอำนาจให้ประชาชน ดิฉันไม่เห็นด้วยและรับหลักการไม่ได้ ” นางบัญญัติ กล่าว

นายโคทม อารียา สนช. อภิปรายว่า การปรับแก้ร่างฯหลายครั้งมาจนเข้าสภา แสดงถึงความใจกว้างของฝ่ายทหาร ครม. วิปรัฐบาล ที่ยอมรับหลักอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ยอมรับหลักการการมีส่วนร่วม และตัดเรื่องการลิดรอนสิทธิออกไปหลายเรื่อง มีการพุดว่าพ.ร.บ.นี้เป็นพ.ร.บ.ติดหนวด ตอนนี้ก็เหมือนโกนหนวดออกไปบ้างแล้ว อย่างไรก็ดี กฎหมายฉบับนี้ยังมีส่วนเสียอยู่อีกหลายประการ

“ขอเรียนว่าที่ผ่านมาการใช้กฎหมายประเภทนี้ไม่เคยสิ้นสุด เช่น พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และ กฎอัยการศึก ที่ประกาศแล้วแต่ไม่เคยยกเลิก กลายเป็นว่ามีการใช้อำนาจพิเศษจนเกือบเป็นเรื่องปกติ ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดความไม่มั่นใจกับประชาชนที่คิดว่าต้องอยู่ในสภาวะที่เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจมากกว่าปกติ โดยไม่มีหลักประกันได้ว่า จะไม่มีเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจเกินขอบเขต ซึ่งประชาชนคงไม่สามารถไว้ใจเจ้าหน้าที่ได้ เพราะมีบทเรียนมาแล้วในหลายกรณี”นายโคทม กล่าว

นายสุรพล นิติไกรพจน์ สนช. กล่าวว่า การมีกฎหมายหรือระเบียบที่จะนำไปสู่การป้องกันระบอบการปกครองมิให้ถูกกระทบกระเทือนเป็นสิ่งที่ปฎิเสธไม่ได้มีความจำเป็น แต่ปัญหาอยู่ที่ว่ามาตรการทางกฎหมายหรือกลไกต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นมานั้นมีความเหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์การเมืองที่เป็นอยู่หรือไม่ เพราะขณะนี้กฎหมายลักษณะนี้อยู่แล้ว 2 ฉบับไล่จากหนักไปเบาคือ กฎอัยการศึกและพรบ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้เข้าใจว่าพ.ร.บ.ฉบับนี้ต้องการวางมาตรการระดับ 3 ที่อาจจะไม่ถึงขั้นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศกฎอัยการศึก ดังนั้น หากเจตนาเป็นเช่นนั้น อำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ก็ต้องต่ำกว่ากฎหมายทั้ง 2 ฉบับที่มีอยู่

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาพ.ร.บ.ฉบับนี้ทำให้เห็นปัญหาการให้อำนาจของเจ้าหน้าที่ 3 ประการ คือ 1. การนิยามสถานการณ์ที่จะนำบทบัญญัตินี้มาใช้ ม.14 เขียนว่า “เหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร” มีความหมายกว้างขวางมาก ไม่มีนิยามหรือเงื่อนไขที่ชัดเจน ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ที่ทุกกรณีที่ผู้มีอำนาจมีดุลพินิจเห็นชอบก็จะนำไปสู่การใช้กฎหมายนี้ได้ทันที

2.ในเรื่องการมอบอำนาจตาม ม. 17 ได้เขียนให้อำนาจเจ้าหน้าที่กว้างขวางมากกว่าพ.ร.บ.ฉุกเฉิน เช่น (2) การห้ามเข้าหรือออกจากบริเวณพื้นที่ และ(6) ให้บุคคลปฎิบัติหรืองดเว้นการปฎิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดเกี่ยวกับเครื่องมือหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ม. 18 ถึงขนาดให้ผู้ปฎิบัติงานในกฎหมายนี้เป็นพนักงานสอบสวนตามกฎหมายอาญาด้วย ระหว่างการบังคับใช้กฎหมาย ทำให้อำนาจหน้าที่เจ้าหน้าที่ ไปไกลมาก โดยไม่มีกรอบระยะเวลา แม้แต่พ.ร.บ.ฉุกเฉิน ซึ่งมีมาตรการที่แรงกว่า ยังมีกรอบระยะเวลา 3 เดือนให้ครม.ทบทวนว่าจะใช้ต่อหรือไม่

และ3.ทำให้การรับหลักการไปก่อนแล้วแก้ไขทีหลังมีปัญหา ใน ม.22 หลังการปฎิบัติหน้าที่เสร็จสิ้น กำหนดให้จนท.ไม่ต้องรับผิดชอบในทุกกรณีที่ปฎิบัติตามพ.ร.บ.นี้จะมีความฉุกเฉินตามครม.หรือไม่ก็ตาม สงสัยว่าเหตุใดจึงงดเว้นการรับผิดอาญาซึ่งเป็ความรับผิดส่วนบุคคล ใครไปทำร้ายบุคคลอื่น บุคคลนั้นก็ต้องต่อสู้ด้วยหนทางอาญา เท่ากับเขียนยกเว้นอำนาจศาลยุติธรรมไปด้วย

“ผมเห็นความจำเป็นว่าประเทศต้องมีกฎหมายเพื่อคาวมมั่นคง แต่ไม่ใช่วันนี้เราไม่มี เรามีอยู่แล้วสองฉบับ และแน่นอนว่าเราต้องมีการเขียนกฎหมายให้อำนาจศอ.บต.และให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารที่ทำงานตามแนวชายแดน แต่ไม่จำเป็นต้องมีอำนาจมากที่เป็นอยู่ขณะนี้ ถ้ากฎหมายนี้ออกมาอย่างนี้ คือเช็คที่ไม่กรอกวันที่ จำนวนเงิน เว้นแต่ลายเซ็นผู้สั่งจ่ายเท่านั้น ขอให้สนช.พิจารณาใคร่ครวญก่อนที่จะรับหลักการ”นายสุรพล กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนั้นมีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวางส่วนใหญ่เป็นผู้คัดค้านไม่ว่าจะเป็นนายสุริชัย หวันแก้ว นายภัทระ คำพิทักษ์ นายโสภณ สุภาพงษ์

ผู้สื่อข่าวรายงานภายหลังจากที่ที่ประชุมสนช.ถกเรื่องร่างพรบ.กฏหมายความมั่นคงซึ่งล่าสุดได้ลงมติรับหลักการพรบ.ความมั่นคง 101 ต่อ 20 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุม 120 คน

ไม่มีความคิดเห็น: